เราได้ยินคำสอนในการละสังโยชน์ของพระโสดาบันว่า พระโสดาบันเป็นผู้ละ ๑. สักกายทิฏฐิ อันนี้แน่นอนต้องละความเห็นผิดในความเป็นตัวตน ซึ่งตรงนี้เป็นของหยาบๆที่มีอยู่อย่างเข้มข้นในปุถุชน และเบาบางลงในกัลยาณชนผู้ใฝ่ในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนเริ่มละความเห็นผิดได้เป็นขณะๆ ซึ่งจะพาไปสู่การละความเห็นผิดได้ในที่สุด ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เน้นไปที่ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย บางคนก็งงๆว่าหากเรามีความลังเลสงสัย มันไม่ดีอย่างไร ความลังเลสงสัยหลายครั้งมันทำให้เราไม่หลงไปเชื่ออะไรง่ายๆ ตามคำบอกกล่าวของใครๆ เช่น มีใครมาหลอกลวงหรือแม้แต่ไม่หลอกลวง เพราะเขาคิดว่าคำสอนอย่างนั้นถูก คำสอนนี้ไม่ถูก เพราะในสำนักมากมายเราไปที่ไหนก็ได้ยินกันแต่เรื่องว่าต้องแบบนี้ถึงจะถูก ต้องทำแบบนี้เท่านั้น การลังเลสงสัยทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ดีหรือ? ถ้ามองในด้านนี้ดีแน่เพราะนั่นเป็นการโยนิโสมนสิการ เพื่อจะพิจารณาโดยแยบคายให้เห็นความจริงด้วยตนเอง เชื่อเถอะใครๆก็ว่าตนเองถูกทั้งนั้นล่ะ ถ้าเขาว่าเขาไม่ถูกเขาจะทำอยู่อย่างนั้นหรือ ? แต่ความลังเลสงสัยในสังโยชน์ข้อนี้มุ่งไปที่ความลังเลในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เนื่องจากพระโสดาบันนั้นก็คือผู้ที่เข้ามาสู่การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์๘ เกิดการชำระกิเลสมาโดยลำดับ จนเห็นด้วยตนเองว่าทุกข์ทั้งหลายเริ่มบางเบาลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเรื่องทั้งหมดทั้งสิ้นอยู่ที่ทุกข์ เมื่อความทุกข์ลดลง จิตใจตั้งมั่นขึ้นก็เริ่มเห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นด้วยตนเองว่า ตัวเรา ของเราที่เข้าใจผิดมาตลอด ด้วยการหลงสร้างตัวตนนั้น ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงความรู้สึกที่ถูกสร้างด้วยความไม่รู้ เมื่อใครก็ตามที่ถึงจุดนี้ เราสามารถจินตนาการได้เองเลยว่า เขาจะหมดข้อสงสัยในพระธรรมแน่ๆ เพราะการปฏิบัติตามธรรมนั้นได้นำพาเขาเข้าสู่ความพ้นทุกข์ได้ และเขาจะรู้ได้ด้วยตนเองโดยอัตโนมัติว่าจะมีพระธรรมคำสั่งสอนได้อย่างไร หากไม่มีปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หลักคิดซึ่งเป็นตรรกะของเหตุและผลนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเกิดในอริยบุคคล แล้วการพ้นทุกข์ก็ได้เกิดขึ้นจริงๆในบุคคลผู้ปฏิบัติตามพระธรรมนั้น ตรงนี้จะทำให้ผู้ที่เข้าไปสัมผัส เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยฟังคำพรรณนาจากผู้ใดอีก นี่จึงเป็นที่มาว่า พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่า เธอว่าใครในที่นี้เป็นพระโสดาบัน พระสารีบุตรทูลตอบว่า ข้าพระองค์คิดว่า ผู้ที่เจริญอริมรรคมีองค์๘ นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน เพราะในโสดาปฏิยางค๔ นั่นบอกถึงลักษณะของโสดาบันอย่างชัดเจนว่า ข้อ ๑-๓ เป็นผู้เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อันหยั่งลงมั่น เพราะท่านได้เห็นแล้วด้วยตนเอง นี้จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นในใจของอริยบุคคลทั้งหลายซึ่งพระองค์ทรงทราบดี ไม่ใช่การเคารพตามๆกันมา ส่วนโสดาปฏิยางค๔ ข้อที่ ๔ นั่นเป็นผู้มีศีลไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิ นี้เกิดจากเจริญมรรคในข้อ ๑, ๒ จนเกิดปัญญา มีศีลด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดว่าถือศีลแล้วจะดี จะพาไปสวรรค์ นั่นยังลูบคลำด้วยทิฏฐิ ดังนั้น โสดาปฏิยางค๔ จึงเป็นผลที่เกิดอย่างแน่นอนในพระอริยบุคคลทุกระดับ หากปฏิบัติจนรู้สึกว่า “ตัวเองหลุดพ้น“ แต่ยังลังเลในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่ นี่จะใช่คำพระพุทธเจ้าจริงหรือ? อริยมรรคน่าจะผิดมั้ง? เพราะที่ “ฉัน“ บรรลุมามันไม่ใช่อย่างนี้นี่? ถ้าอย่างนี้จะต้องจ้างกรรมการคนนอกมาดูแล้วมั้งว่า ระหว่าง สาวก กับ พระพุทธเจ้า ใครน่าจะผิด หากผิดจริง วันนี้จะไม่มีพระอรหันต์เลยแม้แต่องค์เดียวเลยนะ เพราะนี่ผ่านมาแล้ว 2,600 ปี หรือว่าคนที่ว่าอย่างนั้นท่านเป็นพระอรหันต์ ? ด้วยการตรัสรู้ชอบได้โดยตนเองหรือ? ดังนั้นวิจิกิจฉาจึงไม่ใช่แค่ข้อสงสัยรายวัน หรือสงสัยเรื่องโลกๆเช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อย่างนั้น แต่เป็นการลังเลในพระรัตนตรัย ส่วนข้อ ๓. คือ สีลพตรปรามาส?คือสิ่งที่ทำตามๆกัน มีความเชื่อว่าทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนั้นจะพ้นทุกข์ เหล่านี้จะหมดไปจากใจของผู้ที่เห็นความจริงแล้ว เพราะในผู้ที่เห็นความจริงจะเห็นว่า จะทำอะไร อย่างไร แค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ขันธ์อันมีสภาพทุกข์นี้เป็นสุขขึ้นมาได้ ก็ดูแลไปเท่าที่จะทำได้เพราะมันมีแต่ทรุด อย่าว่าทรงเลย จะปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีให้บรรเจิด จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเบอร์ เปลี่ยนทิศสักแค่ไหน ขันธ์ก็ไม่เคยพ้นจากสภาพทุกข์ไปได้ จะมีก็เพียงปฏิบัติไปสู่การวางอุปาทานในขันธ์เท่านั้นเอง นั่นจึงจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ดังนั้นจินตนาการเองก็คงได้ว่า คงไม่ใครคิดจะทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆเลยแม้แต่น้อยให้เสียเวลาเช่นการบ้วนน้ำลายใส่ที่ทำน้ำแข็งแล้วเอาไปแช่ช่องฟรีซมากิน นี้เป็นสังโยชน์ ๓ ข้อในสังโยชน์ ๑๐ ที่ละได้ในพระโสดาบัน 2013-06-14




กลางทะเลส่งผลให้ธรรมชาติภายใน
เจริญงอกงามกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน"






- ธรรมะ
- อ่านธรรมะ
ถ้าจะทำความรู้จักโลกใบนี้ ต้องไม่ยึดมั่นในตำบลอำเภอที่เรายืนอยู่ แต่อาศัยเม็ดดิน เม็ดทรายที่ใต้ฝ่าเท้าเรานั่นแหละ ที่จะเรียนรู้โลกใบนี้? แต่หากยึดมั่นในเม็ดดินเม็ดทรายใต้ฝ่าเท้านี้ จะได้แค่ความรู้ทางธรณีวิทยา ไม่รู้จักโลก ความหมายคืออะไร “ถ้าจะทำความรู้จักโลกใบนี้“ ภาษาโลกหรือภาษาธรรมในประโยคแรก แทบจะทับเป็นความหมายเดียวกัน เพราะจะให้เป็นโลกใบนี้หรือขันธโลกก็ได้ “ต้องไม่ยึดมั่นในตำบลอำเภอที่เรายืนอยู่“ คืออย่ายึดมั่นถือมั่นในบัญญัติ ตรงนี้ความหมายเริ่มเชิงซ้อน เช่นถ้ามัวยึดมั่นว่าเราอยู่อำเภอนี้ เราจะไม่รู้จักอำเภออื่นๆ ทั้งๆ ที่คำว่าอำเภอหามีไม่ ไม่อย่างนั้นรู้จักบริเวณที่เราอยู่ก็จะรู้จักทุกๆ ที่ได้เพราะมันเหมือนกัน ในส่วนการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราดูขาด้วยความเป็นขา เราจะเข้าไม่ถึงความเป็นรูป ถ้าผู้ดูก็เป็นเรา ก็จะไม่เข้าใจนามธรรมที่แท้จริง “แต่อาศัยเม็ดดิน เม็ดทรายที่ใต้ฝ่าเท้าเรานั่นแหละ ที่จะเรียนรู้โลกใบนี้ “ แต่การเรียนรู้โลกนี้ทั้งหมด กลับอาศัยเพียงเม็ดดิน เม็ดทรายเล็กที่แสดงผลออกมาเป็นไตรลักษณ์ เป็นเครื่องพากลับไปสู่ความเป็นรูปนาม เมื่อเข้าใจรูปนามที่เม็ดดิน เม็ดทราย ก็จะไปเข้าใจทั้งโลกนี้ได้เช่นกัน เพราะมาจากกำเนิดเดียวกันและอยู่ใต้กฎเดียวกัน “แต่หากยึดมั่นในเม็ดดินเม็ดทรายใต้ฝ่าเท้านี้ จะได้แค่ความรู้ทางธรณีวิทยา ไม่รู้จักโลก“ แต่หากศึกษาด้วยความยึดมั่นว่า “ดิน” โดยความเป็น “ดิน” ก็จะเข้าไปไม่ถึง “ดิน” ที่แท้จริง เพราะ “ดิน” ที่แท้จริงนั้น จริงๆไม่เคยใช่ “ดิน” แต่เป็นเพียงเหตุปัจจัยสร้างความแปรเปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่เราเรียกสภาพชั่วคราวนั้นว่า “ดิน” แต่มันเองก็ไม่ใช่ “ดิน” และไม่เคยเป็น “ดิน” แต่ก็คือ “ดิน” แต่หากมัวแต่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นดิน และข้ารู้เรื่องดิน ข้าเป็นผู้รอบเรื่องดิน ก็ยังเป็นเพียงผู้รู้ ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ก็จะเป็นเพียงคนที่มีความรู้เรื่องดินเรื่องทราย หารู้จัก “โลก” ที่แท้จริงไม่ ยังไม่สามารถเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์ได้ จนกว่าจะวางสติ วางปัญญาลงนั่นล่ะเพราะความเห็นถูกจนที่สุดจนเกิดผลเป็นสัมมาญานและสัมมาวิมุตติ นั่นจึงจะเป็นที่สงบเย็นอย่างแท้จริง ถ้าเป็นจอมยุทธ์ อาจจะบอกว่า “ดิน ทราย โลก มีแต่ธรรม” หรือ “จะไปสนใจทำไม ของเป็นทุกข์ ยิ่งยุ่งด้วย ยิ่งพาทุกข์” นี่คือการซัดกระบี่กลับไป ซึ่งผู้พูดจะรู้ทันทีว่าคนที่สนทนาด้วยไม่ธรรมดาแต่เริ่มกลับสู่ธรรมดา …คำตอบทั้ง 2 คำตอบแรกมุ่งไปที่การปฏิบัติมากไปนิด มองไม่เห็นภาพกว้างจริงๆ ถ้าออกมาจากจิตจริงๆ สภาพวิญญานดับ สติ ปัญญา นามรูป ดับ แต่คำตอบสุดท้าย เข้าไปใกล้ความจริงของธรรมชาติมากๆ ที่เรียกว่า นิพพาน เพราะวางสิ้นแม้ตัวตนไม่มีผู้เป็นเจ้าของสภาพใดๆทั้งสิ้น สลายคืนสู่ธรรมชาติเข้าถึงสุญญตา ที่เหลือก็ไปทำให้เกิดตามสิ่งที่เข้าใจซะ จอมยุทธทั้งหลาย..ไปหัดขว้างกระบี่ด้วย 2013-09-25
- ธรรมะ
- อ่านธรรมะ
เปิดตัว…“เครื่องสังเคราะห์ความสุข” (Joy Maker) “บางทีความสุขอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องตามหา ทว่ามันคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เรายังมองไม่เห็น” ทุกวันนี้ ที่เรายัง “ไม่มี” ความสุข เพราะเรายัง “ไม่เข้าใจ” ความสุข ในสมองของมนุษย์ทุกคนมีสารสื่อประสาท (neurotransmitter) อยู่ 4 ชนิด ที่เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะทำให้เรารู้สึกมี “ความสุข” คือ…
- โดพามีน (dopamine)
- เซโรโทนิน (serotonin)
- ออกซิโทซิน (oxytocin)
- เอ็นดอร์ฟิน(endorphins)
สารแห่งความสุขทั้งสี่ตัวนี้จะทำงานร่วมกันเสมอ โดยการทำงานของสารแต่ละตัวจะสามารถอธิบายโดยย่อ ได้ดังนี้…
- โดพามีน (สารสำเร็จ)
จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเราได้รับในสิ่งที่ต้องการ และเมื่อความอยากได้รับการตอบสนอง เช่น อยากกินชีสเค้กแล้วได้กิน อยากได้หอมแก้มคน ๆ หนึ่งแล้วได้หอม อยากแข่งขันได้ที่หนึ่งแล้วทำได้สำเร็จ ฯลฯ —
- เซโรโทนิน (สารสงบ)
จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเรากำลังรู้สึกสงบ สบาย และผ่อนคลาย เช่น เมื่อเรากำลังนั่งสมาธิ เมื่อเรากำลังนอนฟังเพลงที่ชอบ เมื่อเรากำลังเอนกายบนโซฟาที่นุ่มสบาย ฯลฯ —
- ออกซิโทซิน (สารสัมพันธ์)
จะพรั่งพรูออกมาเมื่อเรากำลังมีความรัก เมื่อได้ยินเสียงคนรัก ได้อยู่ใกล้คนรัก หรือได้สัมผัสคนรัก และจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษในแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร ออกซิโทซินจะหลั่งออกมาทั้งในความรักแบบหนุ่มสาว แบบครอบครัว และแบบเพื่อนที่มีความผูกพันกันมาก โดยสารออกซิโทซินจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และอบอุ่น —
- เอ็นดอร์ฟิน (สารสำราญ)
จะพรั่งพรูออกมาทุกครั้งที่เรากำลังรู้สึกมีความสุข ดังนั้นสารเอ็นดอร์ฟินจึงหลั่งออกมาพร้อม ๆ กับโดพามีน เซโรโทนิน และออกซิโทซิน นอกจากนั้น เอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษตอนที่เราออกกำลังกาย หัวเราะ หรือยิ้ม และทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดจากธรรมชาติ (natural pain-killer/morphine from nature) ดังนั้น เวลาเรากำลังมีความสุข เราจึงรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ บาดแผล ความเมื่อยล้า และความทรงจำที่ไม่ดี …สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะทำอันตรายอะไรเราไม่ได้เลยในขณะที่เรากำลังมีความสุข :::::::::::::::::: การท่องจำความเหมือนหรือความแตกต่างของสารแห่งความสุขทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ว่าสารทั้งสี่ตัวนี้ ไม่ได้มีอยู่ในสิ่งของใด ๆ ทั้งสิ้น แต่มันมีอยู่อย่างเต็มล้นในสมองของเราเอง… ในแบงค์พันไม่มีสาร dopamine เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกไม่ได้ฉาบทาไปด้วยสาร serotonin เสียงของคนที่เรารักไม่ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งสาร oxytocin และไม่มีอาหารชนิดใดในโลกนี้ที่ใส่สาร endorphine …ความสุขทั้งหมด สมองของเราเป็นตัวสังเคราะห์ขึ้นมาเอง… ทุกสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา ทำหน้าที่เพียง “กระตุ้น” สารความสุขในตัวเราให้หลั่งออกมา แต่สรรพสิ่งในตัวของมันเองไม่ได้มีสารแห่งความสุขใด ๆ สลักฝังมากับมัน แบงค์พันเป็นเพียงเศษกระดาษน่ารำคาญ สำหรับเศรษฐีพันล้านที่ไม่เห็นคุณค่าของเงิน เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกคือความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน สำหรับคนที่เป็นริดสีดวงทวารเม็ดเบ้อเริ่ม เสียงของคนรักคือความโศกเศร้าอันแสนสาหัส ถ้าเจ้าของเสียงได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว และอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกก็คือยาพิษที่น่าสะพรึงกลัว ถ้าผู้กินเกิดแพ้มัน :::::::::::::::::: สรรพสิ่ง ? ความสุข สรรพสิ่ง + การปรุงแต่ง = ความสุข สิ่งต่าง ๆ ไร้ความหมายและไร้ความสุขในตัวของมันเอง แต่ใจเราสังเคราะห์ความสุขขึ้นมาจาก… ค่านิยม การตีความ ประสบการณ์ ความรู้สึก (เวทนา) ความทรงจำ (สัญญา) และการปรุงแต่ง (สังขาร) ตั้งแต่เล็กจนโต เราปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำหน้าที่สังเคราะห์ความสุขจากสิ่งต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ และผลของมันก็มักไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ การที่มนุษย์พยายามแสวงหาความสุขจากสิ่งที่ไม่มีความสุขอยู่ในตัวของมันนี่เอง ที่ทำให้มีผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนที่แม้จะดัง รวย สวย และเก่ง แต่ก็อาจมีความทุกข์มากกว่าขอทานที่นอนห่มผ้าเช็ดตัวขาด ๆ อยู่ใต้สะพานลอย ถ้าความดังให้ความสุข…คงไม่มีดาราหน้าบึ้ง ถ้าความรวยให้ความสุข…คงไม่มีเศรษฐีร้องไห้ ถ้าความสวยให้ความสุข…คงไม่มีคนหน้าตาดีฆ่าตัวตาย ถ้าเนื้อคู่ให้ความสุข…คงไม่มีคนทุกข์หลังแต่งงาน :::::::::::::::::: มนุษย์ฝากสิ่งอื่นให้ช่วยสังเคราะห์ความสุขให้ ตั้งแต่…สิ่งของ เงินทอง ความโด่งดัง คำชื่นชม สภาพอากาศ การจราจร ตำแหน่ง หน้าที่ ล็อตเตอรี่ แฟน พ่อ แม่ ลูก หัวหน้า ลูกน้อง พรรคการเมือง นักการเมือง หนัง ละคร เฟซบุ๊ค เกมในเฟซบุ๊ค ฯลฯ แต่เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่อาจสังเคราะห์ความสุขได้อย่างที่ใจเราต้องการ (อีกต่อไป) เราจึงเริ่มรู้สึกหงุดหงิด เบื่อ เครียด โกรธ เซ็ง เศร้า และหลายครั้งเราก็จะโทษโลก โทษสังคม โทษคนอื่น โทษตัวเอง โทษโชคชะตา หรือโทษกรรมที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์ ตามกฎไตรลักษณ์ซึ่งเป็นกฎเหล็กของจักรวาล …ไม่มีสิ่งใดเที่ยง (อนิจจัง) …ไม่มีสิ่งใดทน (ทุกขัง) …และไม่มีสิ่งใดแท้ (อนัตตา) ดังนั้น เมื่อเราฝากความหวังให้สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่แท้ และไม่ทนมาสังเคราะห์ความสุขให้ เราก็ย่อมต้องผิดหวังและรู้สึกทุกข์ใจเป็นธรรมดา เราทำตัวประหนึ่งเศรษฐีหมื่นล้านที่ปฏิญาณตนว่าจะไม่มีความสุขจนกว่าจะแทงหวยถูก ซึ่งก็หมายความว่า เรามีความสุขพร้อมอยู่แล้วในตัวอย่างมากมายมหาศาล เพราะตัวของเราคือแหล่งผลิตความสุขแหล่งเดียวในจักรวาล แต่เรากลับตั้งเงื่อนไขในการมีความสุขขึ้นมาเอง โดยเอามันไปฝากไว้กับสิ่งของ (และผู้คน) ที่ไม่มีความแน่นอน… :::::::::::::::::: ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร… หมายความว่าเราควรจะหยุดการตามล่าฝันและสรรหาทุกอย่าง แล้วนั่งนิ่ง ๆ เพื่อสังเคราะห์ความสุขด้วยตัวเองไปจนเหี่ยวแห้งตายใช่ไหม… เปล่าเลย แต่มันหมายความว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เป็นใคร หรือทำอะไรอยู่ จริง ๆ แล้วในตัวพวกเราทุกคน “มีความสุข” ซุกซ่อนอยู่ตลอดเวลา แต่อยู่ที่ว่าเราจะ “รู้วิธี” สังเคราะห์มันขึ้นมาเองได้หรือเปล่า ซึ่งวิธีแรกในการสังเคราะห์ความสุข คือการเริ่ม “ขอบคุณในสิ่งที่มี” และ “ยินดีในสิ่งที่ได้” ไม่ใช่เอาแต่ “ทุรนทุรายไปกับสิ่งที่ขาด” เพราะการลองมองสองข้างทางเพื่อเก็บเกี่ยวความสุข ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะต้องหยุดเดินเสียหน่อย จริงไหม??… แต่ถ้าถามว่าในโลกนี้จะมีใครสอนวิชา “สังเคราะห์ความสุข” อย่างจริงจังให้กับเราได้บ้าง เพราะมันช่างเป็นศาสตร์ที่น่าศึกษาเสียเหลือเกิน ก็เห็นจะมีอยู่ปรมาจารย์อยู่องค์หนึ่ง ท่านทรงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม… “พระพุทธเจ้า” และถ้าเราอยากพบกับท่าน ก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงอินเดียหรือเสียตังค์ ซื้อเครื่องย้อนเวลานะ เพราะปรมาจารย์ท่านนี้เคยตรัสสอนลูกศิษย์เอาไว้ประโยคหนึ่งว่า… โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา…” ::::::::::::::::::
Credit : ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร – คอลัมน์ ข้อคิดจากขุนเขา – ธรรมดี ออนไลน์ แม็กกาซีน #Life101Page #JoyMaker 2013-10-17
จ.สุราษฎร์ธานี
การเดินทางไปเกาะพะลวย
วิธีที่ 1 : เรือโดยสารประจำทาง Ferry :
ขึ้นเรือที่ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง
ขาไป : เรือออกจากท่าเรือดอนสัก 13.00 น.
ขากลับ : เรือออกจากท่าเรือเกาะพะลวย 7.30 น.
ค่าโดยสาร : คนละ 350 บาท หากต้องการนำรถลงเรือ สามารถทำได้ ค่ารถลงเรือ (รวมคนขับ 1 คน) 1,000 บาท
วิธีที่ 2 : เรือเมล์ :
ขึ้นอยู่กับรอบเรือเมล์ กรุณาติดต่อทางสำนัก หรือโทร. 0819240019
- โรงพยาบาลดอนสัก : 6 KM. จากท่าเรือเฟอรี่
- ท่ารถบัสดอนสัก : 6 KM. จากท่าเรือเฟอรี่
- อำเภอดอนสัก: 18 KM. | เกาะสมุย: 20 KM.
- สนามบินสุราษฎร์ธานี : 93 KM.
จ.นครศรีธรรมราช
การเดินทางไปสวนยินดีทะเล
วิธีที่ 1 : มาจาก จ.นครศรีธรรมราช :
ระยะทาง 82 KM.จากตัวเมือง นครศรีธรรมราช
ใช้ถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 401 จากอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
ขับไป 73 KM. จะถึงแยกให้เลี้ยวขวาไปยังถนนหมายเลข 4232 ขับอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงสวนยินดี@สิชล
วิธีที่ 2 : มาจากกรุงเทพฯ / จ.สุราษฏร์ธานี
:
ระยะทาง 79 KM.จากตัวเมือง สุราษฎร์ธานี
ใช้ถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 401 จากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
ขับไป 70 KM. จะถึงแยกให้เลี้ยวซ้ายไปยังถนนหมายเลข 4232 ขับอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงสวนยินดี@สิชล
- โรงพยาบาลสิชล : 11 KM.
- คิวรถตู้ขนอม-นครศรีธรรมราช : 33 KM.
- สนามบินนครศรีธรรมราช : 68 KM.
- สนามบินสุราษฎร์ธานี : 106 KM.