พระโสดาบันละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

เราได้ยินคำสอนในการละสังโยชน์ของพระโสดาบันว่า พระโสดาบันเป็นผู้ละ   ๑. สักกายทิฏฐิ อันนี้แน่นอนต้องละความเห็นผิดในความเป็นตัวตน ซึ่งตรงนี้เป็นของหยาบๆที่มีอยู่อย่างเข้มข้นในปุถุชน และเบาบางลงในกัลยาณชนผู้ใฝ่ในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนเริ่มละความเห็นผิดได้เป็นขณะๆ ซึ่งจะพาไปสู่การละความเห็นผิดได้ในที่สุด   ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เน้นไปที่ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย บางคนก็งงๆว่าหากเรามีความลังเลสงสัย มันไม่ดีอย่างไร ความลังเลสงสัยหลายครั้งมันทำให้เราไม่หลงไปเชื่ออะไรง่ายๆ ตามคำบอกกล่าวของใครๆ เช่น มีใครมาหลอกลวงหรือแม้แต่ไม่หลอกลวง เพราะเขาคิดว่าคำสอนอย่างนั้นถูก คำสอนนี้ไม่ถูก เพราะในสำนักมากมายเราไปที่ไหนก็ได้ยินกันแต่เรื่องว่าต้องแบบนี้ถึงจะถูก ต้องทำแบบนี้เท่านั้น การลังเลสงสัยทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ดีหรือ?   ถ้ามองในด้านนี้ดีแน่เพราะนั่นเป็นการโยนิโสมนสิการ เพื่อจะพิจารณาโดยแยบคายให้เห็นความจริงด้วยตนเอง เชื่อเถอะใครๆก็ว่าตนเองถูกทั้งนั้นล่ะ ถ้าเขาว่าเขาไม่ถูกเขาจะทำอยู่อย่างนั้นหรือ ?   แต่ความลังเลสงสัยในสังโยชน์ข้อนี้มุ่งไปที่ความลังเลในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เนื่องจากพระโสดาบันนั้นก็คือผู้ที่เข้ามาสู่การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์๘ เกิดการชำระกิเลสมาโดยลำดับ จนเห็นด้วยตนเองว่าทุกข์ทั้งหลายเริ่มบางเบาลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเรื่องทั้งหมดทั้งสิ้นอยู่ที่ทุกข์ เมื่อความทุกข์ลดลง จิตใจตั้งมั่นขึ้นก็เริ่มเห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นด้วยตนเองว่า ตัวเรา ของเราที่เข้าใจผิดมาตลอด ด้วยการหลงสร้างตัวตนนั้น ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงความรู้สึกที่ถูกสร้างด้วยความไม่รู้ เมื่อใครก็ตามที่ถึงจุดนี้ เราสามารถจินตนาการได้เองเลยว่า เขาจะหมดข้อสงสัยในพระธรรมแน่ๆ เพราะการปฏิบัติตามธรรมนั้นได้นำพาเขาเข้าสู่ความพ้นทุกข์ได้ และเขาจะรู้ได้ด้วยตนเองโดยอัตโนมัติว่าจะมีพระธรรมคำสั่งสอนได้อย่างไร หากไม่มีปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หลักคิดซึ่งเป็นตรรกะของเหตุและผลนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเกิดในอริยบุคคล แล้วการพ้นทุกข์ก็ได้เกิดขึ้นจริงๆในบุคคลผู้ปฏิบัติตามพระธรรมนั้น   ตรงนี้จะทำให้ผู้ที่เข้าไปสัมผัส เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยฟังคำพรรณนาจากผู้ใดอีก นี่จึงเป็นที่มาว่า พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่า เธอว่าใครในที่นี้เป็นพระโสดาบัน พระสารีบุตรทูลตอบว่า ข้าพระองค์คิดว่า ผู้ที่เจริญอริมรรคมีองค์๘ นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน เพราะในโสดาปฏิยางค๔ นั่นบอกถึงลักษณะของโสดาบันอย่างชัดเจนว่า   ข้อ ๑-๓ เป็นผู้เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อันหยั่งลงมั่น เพราะท่านได้เห็นแล้วด้วยตนเอง นี้จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นในใจของอริยบุคคลทั้งหลายซึ่งพระองค์ทรงทราบดี ไม่ใช่การเคารพตามๆกันมา ส่วนโสดาปฏิยางค๔ ข้อที่ ๔ นั่นเป็นผู้มีศีลไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิ นี้เกิดจากเจริญมรรคในข้อ ๑, ๒ จนเกิดปัญญา มีศีลด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดว่าถือศีลแล้วจะดี จะพาไปสวรรค์ นั่นยังลูบคลำด้วยทิฏฐิ ดังนั้น โสดาปฏิยางค๔ จึงเป็นผลที่เกิดอย่างแน่นอนในพระอริยบุคคลทุกระดับ   หากปฏิบัติจนรู้สึกว่า ตัวเองหลุดพ้น แต่ยังลังเลในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่ นี่จะใช่คำพระพุทธเจ้าจริงหรือ? อริยมรรคน่าจะผิดมั้ง? เพราะที่ ฉัน บรรลุมามันไม่ใช่อย่างนี้นี่? ถ้าอย่างนี้จะต้องจ้างกรรมการคนนอกมาดูแล้วมั้งว่า ระหว่าง สาวก กับ พระพุทธเจ้า ใครน่าจะผิด หากผิดจริง วันนี้จะไม่มีพระอรหันต์เลยแม้แต่องค์เดียวเลยนะ เพราะนี่ผ่านมาแล้ว 2,600 ปี หรือว่าคนที่ว่าอย่างนั้นท่านเป็นพระอรหันต์ ? ด้วยการตรัสรู้ชอบได้โดยตนเองหรือ?   ดังนั้นวิจิกิจฉาจึงไม่ใช่แค่ข้อสงสัยรายวัน หรือสงสัยเรื่องโลกๆเช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อย่างนั้น แต่เป็นการลังเลในพระรัตนตรัย   ส่วนข้อ ๓. คือ สีลพตรปรามาส?คือสิ่งที่ทำตามๆกัน มีความเชื่อว่าทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนั้นจะพ้นทุกข์ เหล่านี้จะหมดไปจากใจของผู้ที่เห็นความจริงแล้ว เพราะในผู้ที่เห็นความจริงจะเห็นว่า จะทำอะไร อย่างไร แค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ขันธ์อันมีสภาพทุกข์นี้เป็นสุขขึ้นมาได้ ก็ดูแลไปเท่าที่จะทำได้เพราะมันมีแต่ทรุด อย่าว่าทรงเลย จะปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีให้บรรเจิด จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเบอร์ เปลี่ยนทิศสักแค่ไหน ขันธ์ก็ไม่เคยพ้นจากสภาพทุกข์ไปได้ จะมีก็เพียงปฏิบัติไปสู่การวางอุปาทานในขันธ์เท่านั้นเอง นั่นจึงจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ดังนั้นจินตนาการเองก็คงได้ว่า คงไม่ใครคิดจะทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆเลยแม้แต่น้อยให้เสียเวลาเช่นการบ้วนน้ำลายใส่ที่ทำน้ำแข็งแล้วเอาไปแช่ช่องฟรีซมากิน   นี้เป็นสังโยชน์ ๓ ข้อในสังโยชน์ ๑๐ ที่ละได้ในพระโสดาบัน   2013-06-14

เฉลยข้อความ ZEN “รู้จักโลก”

ถ้าจะทำความรู้จักโลกใบนี้ ต้องไม่ยึดมั่นในตำบลอำเภอที่เรายืนอยู่ แต่อาศัยเม็ดดิน เม็ดทรายที่ใต้ฝ่าเท้าเรานั่นแหละ ที่จะเรียนรู้โลกใบนี้? แต่หากยึดมั่นในเม็ดดินเม็ดทรายใต้ฝ่าเท้านี้ จะได้แค่ความรู้ทางธรณีวิทยา ไม่รู้จักโลก   ความหมายคืออะไร   ถ้าจะทำความรู้จักโลกใบนี้ ภาษาโลกหรือภาษาธรรมในประโยคแรก แทบจะทับเป็นความหมายเดียวกัน เพราะจะให้เป็นโลกใบนี้หรือขันธโลกก็ได้   ต้องไม่ยึดมั่นในตำบลอำเภอที่เรายืนอยู่ คืออย่ายึดมั่นถือมั่นในบัญญัติ ตรงนี้ความหมายเริ่มเชิงซ้อน เช่นถ้ามัวยึดมั่นว่าเราอยู่อำเภอนี้ เราจะไม่รู้จักอำเภออื่นๆ ทั้งๆ ที่คำว่าอำเภอหามีไม่ ไม่อย่างนั้นรู้จักบริเวณที่เราอยู่ก็จะรู้จักทุกๆ ที่ได้เพราะมันเหมือนกัน   ในส่วนการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราดูขาด้วยความเป็นขา เราจะเข้าไม่ถึงความเป็นรูป ถ้าผู้ดูก็เป็นเรา ก็จะไม่เข้าใจนามธรรมที่แท้จริง   แต่อาศัยเม็ดดิน เม็ดทรายที่ใต้ฝ่าเท้าเรานั่นแหละ ที่จะเรียนรู้โลกใบนี้  แต่การเรียนรู้โลกนี้ทั้งหมด กลับอาศัยเพียงเม็ดดิน เม็ดทรายเล็กที่แสดงผลออกมาเป็นไตรลักษณ์ เป็นเครื่องพากลับไปสู่ความเป็นรูปนาม เมื่อเข้าใจรูปนามที่เม็ดดิน เม็ดทราย ก็จะไปเข้าใจทั้งโลกนี้ได้เช่นกัน เพราะมาจากกำเนิดเดียวกันและอยู่ใต้กฎเดียวกัน   แต่หากยึดมั่นในเม็ดดินเม็ดทรายใต้ฝ่าเท้านี้ จะได้แค่ความรู้ทางธรณีวิทยา ไม่รู้จักโลก แต่หากศึกษาด้วยความยึดมั่นว่า “ดิน” โดยความเป็น “ดิน” ก็จะเข้าไปไม่ถึง “ดิน” ที่แท้จริง เพราะ “ดิน” ที่แท้จริงนั้น จริงๆไม่เคยใช่ “ดิน” แต่เป็นเพียงเหตุปัจจัยสร้างความแปรเปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่เราเรียกสภาพชั่วคราวนั้นว่า “ดิน” แต่มันเองก็ไม่ใช่ “ดิน” และไม่เคยเป็น “ดิน” แต่ก็คือ “ดิน”   แต่หากมัวแต่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นดิน และข้ารู้เรื่องดิน ข้าเป็นผู้รอบเรื่องดิน ก็ยังเป็นเพียงผู้รู้ ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ก็จะเป็นเพียงคนที่มีความรู้เรื่องดินเรื่องทราย หารู้จัก “โลก” ที่แท้จริงไม่ ยังไม่สามารถเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์ได้ จนกว่าจะวางสติ วางปัญญาลงนั่นล่ะเพราะความเห็นถูกจนที่สุดจนเกิดผลเป็นสัมมาญานและสัมมาวิมุตติ นั่นจึงจะเป็นที่สงบเย็นอย่างแท้จริง   ถ้าเป็นจอมยุทธ์ อาจจะบอกว่า ดิน ทราย โลก มีแต่ธรรม หรือ จะไปสนใจทำไม ของเป็นทุกข์ ยิ่งยุ่งด้วย ยิ่งพาทุกข์ นี่คือการซัดกระบี่กลับไป ซึ่งผู้พูดจะรู้ทันทีว่าคนที่สนทนาด้วยไม่ธรรมดาแต่เริ่มกลับสู่ธรรมดา   …คำตอบทั้ง 2 คำตอบแรกมุ่งไปที่การปฏิบัติมากไปนิด มองไม่เห็นภาพกว้างจริงๆ ถ้าออกมาจากจิตจริงๆ สภาพวิญญานดับ สติ ปัญญา นามรูป ดับ   แต่คำตอบสุดท้าย เข้าไปใกล้ความจริงของธรรมชาติมากๆ ที่เรียกว่า นิพพาน เพราะวางสิ้นแม้ตัวตนไม่มีผู้เป็นเจ้าของสภาพใดๆทั้งสิ้น สลายคืนสู่ธรรมชาติเข้าถึงสุญญตา   ที่เหลือก็ไปทำให้เกิดตามสิ่งที่เข้าใจซะ จอมยุทธทั้งหลาย..ไปหัดขว้างกระบี่ด้วย   2013-09-25

เครื่องสังเคราะห์ความสุข (Joy Maker)

เปิดตัว…เครื่องสังเคราะห์ความสุข” (Joy Maker)   “บางทีความสุขอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องตามหา ทว่ามันคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เรายังมองไม่เห็น”   ทุกวันนี้ ที่เรายัง “ไม่มี” ความสุข เพราะเรายัง “ไม่เข้าใจ” ความสุข ในสมองของมนุษย์ทุกคนมีสารสื่อประสาท (neurotransmitter) อยู่ 4 ชนิด ที่เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะทำให้เรารู้สึกมี “ความสุข” คือ…

  1. โดพามีน (dopamine)
  2. เซโรโทนิน (serotonin)
  3. ออกซิโทซิน (oxytocin)
  4. เอ็นดอร์ฟิน(endorphins)

สารแห่งความสุขทั้งสี่ตัวนี้จะทำงานร่วมกันเสมอ โดยการทำงานของสารแต่ละตัวจะสามารถอธิบายโดยย่อ ได้ดังนี้…

  1. โดพามีน (สารสำเร็จ)

จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเราได้รับในสิ่งที่ต้องการ และเมื่อความอยากได้รับการตอบสนอง เช่น อยากกินชีสเค้กแล้วได้กิน อยากได้หอมแก้มคน ๆ หนึ่งแล้วได้หอม อยากแข่งขันได้ที่หนึ่งแล้วทำได้สำเร็จ ฯลฯ —

  1. เซโรโทนิน (สารสงบ)

จะพรั่งพรูออกมามากเมื่อเรากำลังรู้สึกสงบ สบาย และผ่อนคลาย เช่น เมื่อเรากำลังนั่งสมาธิ เมื่อเรากำลังนอนฟังเพลงที่ชอบ เมื่อเรากำลังเอนกายบนโซฟาที่นุ่มสบาย ฯลฯ —

  1. ออกซิโทซิน (สารสัมพันธ์)

จะพรั่งพรูออกมาเมื่อเรากำลังมีความรัก เมื่อได้ยินเสียงคนรัก ได้อยู่ใกล้คนรัก หรือได้สัมผัสคนรัก และจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษในแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร ออกซิโทซินจะหลั่งออกมาทั้งในความรักแบบหนุ่มสาว แบบครอบครัว และแบบเพื่อนที่มีความผูกพันกันมาก โดยสารออกซิโทซินจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และอบอุ่น —

  1. เอ็นดอร์ฟิน (สารสำราญ)

จะพรั่งพรูออกมาทุกครั้งที่เรากำลังรู้สึกมีความสุข ดังนั้นสารเอ็นดอร์ฟินจึงหลั่งออกมาพร้อม ๆ กับโดพามีน เซโรโทนิน และออกซิโทซิน นอกจากนั้น เอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษตอนที่เราออกกำลังกาย หัวเราะ หรือยิ้ม และทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดจากธรรมชาติ (natural pain-killer/morphine from nature)   ดังนั้น เวลาเรากำลังมีความสุข เราจึงรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ บาดแผล ความเมื่อยล้า และความทรงจำที่ไม่ดี …สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะทำอันตรายอะไรเราไม่ได้เลยในขณะที่เรากำลังมีความสุข   ::::::::::::::::::   การท่องจำความเหมือนหรือความแตกต่างของสารแห่งความสุขทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ว่าสารทั้งสี่ตัวนี้ ไม่ได้มีอยู่ในสิ่งของใด ๆ ทั้งสิ้น   แต่มันมีอยู่อย่างเต็มล้นในสมองของเราเอง…   ในแบงค์พันไม่มีสาร dopamine เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกไม่ได้ฉาบทาไปด้วยสาร serotonin เสียงของคนที่เรารักไม่ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งสาร oxytocin และไม่มีอาหารชนิดใดในโลกนี้ที่ใส่สาร endorphine   …ความสุขทั้งหมด สมองของเราเป็นตัวสังเคราะห์ขึ้นมาเอง…   ทุกสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา ทำหน้าที่เพียง “กระตุ้น” สารความสุขในตัวเราให้หลั่งออกมา แต่สรรพสิ่งในตัวของมันเองไม่ได้มีสารแห่งความสุขใด ๆ สลักฝังมากับมัน   แบงค์พันเป็นเพียงเศษกระดาษน่ารำคาญ สำหรับเศรษฐีพันล้านที่ไม่เห็นคุณค่าของเงิน เก้าอี้ที่นุ่มที่สุดในโลกคือความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน สำหรับคนที่เป็นริดสีดวงทวารเม็ดเบ้อเริ่ม เสียงของคนรักคือความโศกเศร้าอันแสนสาหัส ถ้าเจ้าของเสียงได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว และอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกก็คือยาพิษที่น่าสะพรึงกลัว ถ้าผู้กินเกิดแพ้มัน   ::::::::::::::::::   สรรพสิ่ง ความสุข   สรรพสิ่ง การปรุงแต่ง ความสุข   สิ่งต่าง ๆ ไร้ความหมายและไร้ความสุขในตัวของมันเอง แต่ใจเราสังเคราะห์ความสุขขึ้นมาจาก… ค่านิยม การตีความ ประสบการณ์   ความรู้สึก (เวทนาความทรงจำ (สัญญาและการปรุงแต่ง (สังขาร)   ตั้งแต่เล็กจนโต เราปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำหน้าที่สังเคราะห์ความสุขจากสิ่งต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ และผลของมันก็มักไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ   การที่มนุษย์พยายามแสวงหาความสุขจากสิ่งที่ไม่มีความสุขอยู่ในตัวของมันนี่เอง ที่ทำให้มีผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนที่แม้จะดัง รวย สวย และเก่ง แต่ก็อาจมีความทุกข์มากกว่าขอทานที่นอนห่มผ้าเช็ดตัวขาด ๆ อยู่ใต้สะพานลอย ถ้าความดังให้ความสุข…คงไม่มีดาราหน้าบึ้ง ถ้าความรวยให้ความสุข…คงไม่มีเศรษฐีร้องไห้ ถ้าความสวยให้ความสุข…คงไม่มีคนหน้าตาดีฆ่าตัวตาย ถ้าเนื้อคู่ให้ความสุข…คงไม่มีคนทุกข์หลังแต่งงาน   ::::::::::::::::::   มนุษย์ฝากสิ่งอื่นให้ช่วยสังเคราะห์ความสุขให้ ตั้งแต่…สิ่งของ เงินทอง ความโด่งดัง คำชื่นชม สภาพอากาศ การจราจร ตำแหน่ง หน้าที่ ล็อตเตอรี่ แฟน พ่อ แม่ ลูก หัวหน้า ลูกน้อง พรรคการเมือง นักการเมือง หนัง ละคร เฟซบุ๊ค เกมในเฟซบุ๊ค ฯลฯ   แต่เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่อาจสังเคราะห์ความสุขได้อย่างที่ใจเราต้องการ (อีกต่อไป) เราจึงเริ่มรู้สึกหงุดหงิด เบื่อ เครียด โกรธ เซ็ง เศร้า และหลายครั้งเราก็จะโทษโลก โทษสังคม โทษคนอื่น โทษตัวเอง โทษโชคชะตา หรือโทษกรรมที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์   ตามกฎไตรลักษณ์ซึ่งเป็นกฎเหล็กของจักรวาล …ไม่มีสิ่งใดเที่ยง (อนิจจัง) …ไม่มีสิ่งใดทน (ทุกขัง) …และไม่มีสิ่งใดแท้ (อนัตตา)   ดังนั้น เมื่อเราฝากความหวังให้สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่แท้ และไม่ทนมาสังเคราะห์ความสุขให้ เราก็ย่อมต้องผิดหวังและรู้สึกทุกข์ใจเป็นธรรมดา   เราทำตัวประหนึ่งเศรษฐีหมื่นล้านที่ปฏิญาณตนว่าจะไม่มีความสุขจนกว่าจะแทงหวยถูก ซึ่งก็หมายความว่า เรามีความสุขพร้อมอยู่แล้วในตัวอย่างมากมายมหาศาล เพราะตัวของเราคือแหล่งผลิตความสุขแหล่งเดียวในจักรวาล แต่เรากลับตั้งเงื่อนไขในการมีความสุขขึ้นมาเอง โดยเอามันไปฝากไว้กับสิ่งของ (และผู้คน) ที่ไม่มีความแน่นอน…   ::::::::::::::::::   ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร…   หมายความว่าเราควรจะหยุดการตามล่าฝันและสรรหาทุกอย่าง แล้วนั่งนิ่ง ๆ เพื่อสังเคราะห์ความสุขด้วยตัวเองไปจนเหี่ยวแห้งตายใช่ไหม… เปล่าเลย แต่มันหมายความว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เป็นใคร หรือทำอะไรอยู่ จริง ๆ แล้วในตัวพวกเราทุกคน “มีความสุข” ซุกซ่อนอยู่ตลอดเวลา แต่อยู่ที่ว่าเราจะ “รู้วิธี” สังเคราะห์มันขึ้นมาเองได้หรือเปล่า   ซึ่งวิธีแรกในการสังเคราะห์ความสุข คือการเริ่ม “ขอบคุณในสิ่งที่มี และ ยินดีในสิ่งที่ได้” ไม่ใช่เอาแต่ ทุรนทุรายไปกับสิ่งที่ขาด   เพราะการลองมองสองข้างทางเพื่อเก็บเกี่ยวความสุข ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะต้องหยุดเดินเสียหน่อย จริงไหม??…   แต่ถ้าถามว่าในโลกนี้จะมีใครสอนวิชา “สังเคราะห์ความสุข” อย่างจริงจังให้กับเราได้บ้าง เพราะมันช่างเป็นศาสตร์ที่น่าศึกษาเสียเหลือเกิน ก็เห็นจะมีอยู่ปรมาจารย์อยู่องค์หนึ่ง ท่านทรงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม…   พระพุทธเจ้า   และถ้าเราอยากพบกับท่าน ก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงอินเดียหรือเสียตังค์ ซื้อเครื่องย้อนเวลานะ เพราะปรมาจารย์ท่านนี้เคยตรัสสอนลูกศิษย์เอาไว้ประโยคหนึ่งว่า…   โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา…”   ::::::::::::::::::

Credit : ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร – คอลัมน์ ข้อคิดจากขุนเขา – ธรรมดี ออนไลน์ แม็กกาซีน #Life101Page #JoyMaker   2013-10-17

จะมัวนั่งเสียใจอยู่ทำไม

ถูกเจ้านายต่อว่า   ถูกสามีต่อว่า   ถูกลูกต่อว่า   ถูกเพื่อนร่วมงานต่อว่า   ถูกลูกค้าต่อว่า   กำลังทุกข์ เศร้าโศก หมดกำลังใจ น้อยใจ คร่ำครวญ ว่าเราก็พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้วแต่กลับไม่เห็นความดี ความตั้งใจกันบ้างเลย   เอาอย่างนี้นะ ผมเชื่อ ผมเข้าใจว่าเราเต็มที่แล้ว ผมเชียร์ผู้หญิง ผมเห็นใจผู้หญิง ผมแอบหวังเสมอว่า วันข้างหน้าจะมีผู้หญิงจำนวนมากเข้าถึงธรรมได้   พวกอารมณ์อกุศลที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง จมปลัก กลับมาอยู่กับกุศล ตั้งหน้าเดินหน้าไม่ย่อท้อ อย่างพระนางปชาบดี พระแม่น้าของพระพุทธเจ้า พระนางมีตำแหน่งใหญ่โต อายุก็มากแต่ทรงโกนผม เดินด้วยพระบาทเปล่าไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อขอบวช แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต พระนางก็ร้องไห้เสียใจ แต่ในที่สุดพระอานนท์พยายามทูลขอจนพระองค์ตกลงให้บวชได้ และในที่สุดก็บรรลุธรรม   อย่าจมอยู่กับความเศร้าโศกในวันนี้ หนทางแห่งการพ้นทุกข์ยังมี ผู้หญิงทั้งหลาย อย่ารอโชคชะตา อย่ารอชาติหน้า อย่ารอให้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทุกข์จะมากน้อยเพียงใด   ขณะนี้ ท่านได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รู้จักมรรคมีองค์๘ วางความเศร้าโศก หรือความทุกข์ลงเถอะแล้วกลับมามีสติ กลับมาเป็นมนุษย์ให้คุ้มค่าที่ได้เกิดเป็นมนุษย์   ถ้าจะมีใครสักคนที่เสียใจ นางปฏาจาราเสียใจยิ่งกว่าใครๆ แต่วันที่เสียใจที่สุด ได้กลับฟื้นคืนมาได้เพราะคำของพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ตรัสต่อนางปฏาจาราว่า   “จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง”   นางกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพในขณะนั้นเอง   ในเวลานี้ นางกำหนดความที่ผ้านุ่งหลุดได้แล้ว ให้เกิดหิริโอตัปปะขึ้น จึงนั่งกระโหย่ง ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งจึงโยนผ้าห่มไปให้นาง   นางนุ่งผ้านั้นแล้วเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แทบพระบาททั้งสองซึ่งมีพรรณะดังทองคำแล้วทูลว่า   “ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า เพราะว่าเหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีตายที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับตายเขาเผาเชิงตะกอนเดียวกัน”   พระศาสดาทรงสดับคำของนาง จึงตรัสว่า   “อย่าคิดเลย ปฏาจารา เธอมาอยู่สำนักของผู้สามารถจะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว เหมือนอย่างว่า บัดนี้ บุตรคนหนึ่งของเธอถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีตายแล้วที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับฉันใด น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเวลาที่ปิยชนมีบุตรเป็นต้นตาย ยังมากกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”   ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า   น้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย น้ำตาของคนผู้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ไม่ใช่น้อย มากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่าแม่น้อง   เมื่อพระศาสดาตรัส อนมตัคคปริยายสูตร อยู่อย่างนั้น ความโศกในสรีระของนาง ได้ถึงความเบาบางแล้ว   ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบที่นางผู้มีความโศกเบาบางแล้ว ทรงเตือนอีก แล้วตรัสว่า   “ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้;เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานของตนเท่านั้น”   เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า   “บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน บิดาก็ไม่มี ถึงพวกพ้องก็ไม่มี เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำแล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี;   บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นั้นแล้ว สำรวมในศีล พึงชำระทางไปนิพพานโดยเร็วทีเดียว”   ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราเผากิเลสมีประมาณเท่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล 2013-09-24

ชิน

บ้านใครอยู่แถวบางพลีเมื่อหลายปีก่อน ความเป็นอยู่ค่อนข้างสงบ หลังจากนั้นเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิย้ายเข้ามา เสียงเครื่องบินขึ้นลงดังสนั่นไปหมด ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในแนวขึ้นลงของเครื่องบินแทบจะต้องอุดหูกันและเครื่องบินขึ้นลงในแต่ละวันก็แทบจะทุกนาที

จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านไปหลายปีตั้งแต่เปิดใช้สนามบิน ไม่มีใครรู้สึกถึงเสียงนั้นอีกแล้ว เครื่องมา..หยุดคุย เครื่องผ่านไป..พูดต่อ ทุกคนดูเหมือนจะปรับวิถีชีวิตได้กันหมดแล้ว   ลองไปถามชาวบ้านที่อยู่ในแหล่งที่มีน้ำเน่าท่วมขัง จากเวลาที่ผ่านไปๆการรับรู้ของกลิ่นเหม็นนั้นราวกับว่าไม่มีกลิ่นเหม็นนั้นแล้ว   เด็กถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ วันแรกๆไม่อยากอยู่เลย แต่เมื่ออยู่ไปไม่นาน ไม่อยากกลับบ้านแล้ว อยากอยู่กับเพื่อนแทน   วันนี้ชอบทานน้ำพริก ปลาทู เกิดถูกส่งไปอยู่อินเดีย วันแรกๆเชื่อไหมทานไม่ได้ แต่จากนั้นเมื่อไม่มีอะไรจะทาน ก็ต้องอดทนทานเข้าไป จากนั้นไม่นานก็จะอร่อยไปกับอาหารแขกนั้น   คนเราอยู่กับอะไรไปสักพักก็จะชินกับสิ่งนั้น เบื้องหลังความจริงที่เราเหมือนจะรู้จักนี้คืออะไร? ความจริงไม่ใช่เราชินหรอก (“เรามีที่ไหนกัน) เพราะนั่นเป็นผลที่ประจักษ์ออกมาเท่านั้น ความเป็นจริงคือ ธรรมชาติของรูปนาม(ทั้งรูปและนามหรือทั้งกายและใจเลยล่ะ) ทุกชนิดจะมีคุณสมบัติในการปรับตัวเข้าสู่สภาพใหม่   การปรับตัวเข้าสู่สภาพใหม่นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติเพราะนี่เป็นการดำรงพันธุ์ของสัตว์และพืช เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมาตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา เอาง่ายๆเช่นอุกาบาตจากนอกโลกพุ่งชนโลก เกิดการกระแทกอย่างรุนแรง มหาสมุทรกระฉอก เกิดคลื่นสึนามิขนาดมหึมา เกิดภูเขาไฟระเบิด ท่วมทับไดโนเสาร์ตายกันหมด ฝุ่นควันหมอกหนาคละคลุ้งเต็มบรรยากาศ แสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ถึงพื้นโลก พื้นโลกจึงเกิดเป็นน้ำแข็ง มนุษย์ต้องปรับตัว พืชพันธุ์ต้องปรับตัว เวลาล่วงเลยมาจนปัจจุบัน เรากำลังตระหนักกันถึงภาวะโลกร้อนเพราะเราเร่งเหตุปัจจัยต่างๆด้วยการขุดของใต้ดินมาเผาบนดิน สภาพของสมดุลย์จึงเปลี่ยนส่งผลกระทบกันเป็นห่วงโซ่ สัตว์โลกพืชพันธุ์ก็ต้องปรับตัวใหม่ การปรับตัวเกิดขึ้นตลอดมาเพราะเหตุปัจจัยภายนอกที่ไม่เสถียรส่งผลต่อเหตุปัจจัยภายใน และเหตุปัจจัยภายใน (คือนามธรรม ความรู้สึกทั้งหลาย) ที่ไม่เคยเสถียรเช่นกัน (ด้วยความไม่รู้และการปรุงแต่ง) ก็พยายามที่จะเปลี่ยนเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมภายนอกให้เป็นไปดั่งใจด้วย   เมื่อการปรับตัวมีอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวเข้าสู่สิ่งใหม่หรือภาวะใหม่จึงสร้างความเคยชินกับสภาพใหม่ตลอดเวลา พืชก็ปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ สัตว์ก็เช่นกัน มนุษย์ก็ด้วย   การปรับตัวใหม่นี้ ในสัตว์ที่มีเวทนาคือความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยๆ จึงปรับจากทุกข์เข้าสู่เฉยๆ เมื่อเฉยๆได้สักพักก็เกิดความสุข พออะไรๆเปลี่ยนอีกก็ทุกข์อีกแล้วก็ปรับอีกเป็นเฉยๆจากนั้นชักชินก็เริ่มสุข (โง่วนเวียน โง่เวียนวนอยู่อย่างนี้) นี้เป็นสภาพที่เห็นเป็นผล สภาพปรมัตถ์คือ เมื่อแรกจิตพบกับภาวะใหม่ มันจะดิ้นรนกวัดแกว่งเพราะจะต้องปกป้องตนเอง จนกระทั่งรู้สึกว่าปลอดภัยแล้วก็จะไม่ไปเกาะเรื่องนั้นๆอีก แรกๆจึงทุกข์เพราะจิตดิ้น แต่พอจิตเลิกดิ้นมันก็รู้สึกเฉยๆ แต่สาเหตุก็อาจจะมาจากกายด้วยเช่นกัน เช่นอยู่ประเทศหนาวมาอยู่ประเทศร้อนแรกๆผิวกายสัมผัสความร้อนก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปรับตัว เกิดการขยับมีการขับน้ำออกมาเพื่อระบายความร้อน เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นความรู้สึกจึงถูกส่งผ่านนามธรรมต่อเป็นห่วงโซ่ เกิดผัสสะ มีวิญญาณแปลค่าในด้านบวก ลบ จึงมีเวทนา เกิดเป็นทุกขเวทนาสักระยะ เวทนาก็เปลี่ยนจากทุกข์เป็นเฉยๆ นั่นเพราะจิตไม่ไปเกาะกับสิ่งนั้นเหมือนอย่างตอนแรกๆอีก หรือเช่น ทหารเกณฑ์แรกๆถูกส่งไปอยู่ในค่ายทหารก็จะทุกข์มากสักพักก็จะปรับตัวเข้าสู่สภาพใหม่เป็นคนมีวินัย ที่เคยลำบากในวันแรกๆก็กลายเป็นชินไป ร่างกายวันแรกๆก็ปวดเมื่อยมันก็ปรับตัวใหม่เพราะต้องดิ้นรนอยู่ในสภาพนี้ให้ได้ก็ก่อเกิดเป็นกล้ามเนื้อขึ้น สภาพเหล่านี้เกิดเพราะมีเหตุไปกระตุ้นมัน มันไม่ได้มีตัวตนอะไร สุดท้ายได้นิสัยที่ดีติดตัว ตื่นเช้า เข้มแข็ง แข็งแรง มีวินัย ตามมา แต่หากเหตุปัจจัยใหม่ไม่ทำต่อ มันก็ปรับตัวใหม่อีก ดังนั้นที่ว่าเป็นอย่างเดิม ก็แค่ดูคล้ายๆเดิมต่างหาก จะเป็นอย่างเดิมได้ยังไง   แต่การปรับตัวใหม่นี้ไม่ได้มีแต่ในทางบวกอย่างตัวอย่างที่ยกผ่านมาแต่เมื่อถูกเข้าไปอยู่กับหมู่กลุ่มที่นิสัยไม่ดีก็จะซึมซับความไม่ดี ความไม่มีวินัย ความเห็นแก่ตัว ที่เป็นภาวะของสิ่งแวดล้อมมาด้วยเช่นกัน เมื่อจุ่มในน้ำธรรมดาก็ชินกับน้ำธรรมดา เมื่อไปจุ่มในน้ำร้อน ช่วงแรกก็จะอึดอัดกับน้ำร้อนเป็นทุกข์กับน้ำร้อนแล้วก็ชินกับน้ำร้อน นี้จึงเป็นการปรับตัวของรูปนาม และของสัตว์ที่มีเวทนา วันนี้ด้วยสิ่งนี้มันจึงถูกบดบังเพราะเราไม่เห็นความจริง จึงหลงไปปรุงความรู้สึกขึ้นมา ทั้งๆที่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง   หากเราเห็นความจริงจะพบความจริงที่ไม่น่าเชื่อว่า การปรับตัวของรูปนามทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งมีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ ทั้งที่มีเวทนาและไม่มีเวทนานั้น มีการปรับตัวตลอดเวลาไม่ว่าจะมีใครเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม นี้จึงมีศัพท์ที่จะอธิบายสิ่งที่เป็นสัจจธรรมนี้ด้วยประโยคๆเดียวว่า เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งสภาพนี้พระพุทธเจ้าบัญญัติศัพท์เรียกว่า อิทับปัจจยตา” ดังนั้นสรรพสิ่งในโลกทั้งหมดจึงมีความเป็นอิทับปัจจยตาทั้งหมด เมื่อผลที่เราเห็นในวินาทีนี้มาจากเหตุในวินาทีก่อน และวินาทีก่อนก็มีเหตุจากวินาทีก่อนหน้ากันขึ้นไป นั่นจึงทำให้เราเข้าใจได้ว่าทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา สภาพที่จะเป็นตัวตนเสถียรจึงไม่มี นี่เองจึงทำให้สรรพสิ่งไม่มีทางที่จะเสถียรได้ มันจึงส่งผลให้เราได้เห็นในความเป็นอนิจจังนั่นเอง นี่เป็นสภาพย้อนกลับไปที่ต้นตอ ผู้ที่เห็นอนิจจังจึงเหมือนกับเห็นเพียงผลที่แสดงออกของรูปนามเท่านั้นเอง ปัญญาแท้หรือความจริงแท้คือเข้าไปเห็นต้นเหตุที่แท้จริงของสรรพสิ่งจึงจะสามารถวางอุปาทานลงได้ แต่ยังหรอกเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะเราจะเดินหน้ากันต่อไปเปิดโปงความจริงของโลกที่บดบังเราให้หลงผิด แม้ทุกสรรพสิ่งจะเป็นอิทับปัจจยตาจะนับรวมทุกสิ่งก็ตาม แต่ที่จะมามีส่วนเกี่ยวข้องกับสัตว์โลกจริงๆคือสัตว์โลกที่มีความรู้สึกหรือสัตว์โลกที่มีเวทนาเท่านั้น ดังนั้นพระธรรมคำสอนจะมุ่งเน้นเฉพาะสัตว์โลกที่มีเวทนาเพื่อให้พ้นจากเวทนานั่นเอง อิทับปัจจยตาจึงถูกบีบให้แคบลงเหลือเพียง ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งจะเกี่ยวข้องเฉพาะสัตว์ที่มีเวทนาเท่านั้น จากนั้นก็จะพบความจริงที่ไม่เคยมีเราเขาบุคคลในสัตว์โลกเลย ความเป็นเรา ของเราก็มาจากอุปาทานนั่นเอง หากดูเท่าที่อ่านผ่านมา สรุปแบบง่ายๆก็คือเวทนาคือ สุข ทุกข์ เฉย นั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภายนอกและมากระทบต่อกายใจ หรือเกิดจากการดิ้นรนภายในจะต้องการจะเปลี่ยนแปลงภายนอก แล้วความรู้สึกก็จะวนไปมาเพราะความไม่รู้ความจริงแท้ จึงไปหลงยึดถือนั่นเอง   ตกลงชินดีไหมชินก็ดี แต่ชินแล้วโง่ พระพุทธเจ้ามีพระปรีชาสามารถ มีพระปัญญาคุณ พระองค์ตรัสรู้อริยสัจขึ้นมาเพราะเห็นความจริงขึ้นมา จึงรู้ว่ามรรคเท่านั้นที่จะพาสัตว์โลกพ้นไปได้เพราะจะเห็นความจริง ในมรรคมีองค์๘ จะดึงให้สัตว์โลกพ้นจากความชินในอกุศลซึ่งนั่นเป็นสัญชาตญานในการมุ่งร้าย เบียดเบียนเพราะจะเอาตัวรอด เปลี่ยนมาเป็นไม่มุ่งร้ายแทนด้วยศีลในมรรคองค์ที่ ๓ ๔ ๕ ด้วยปัญญาจากมรรคองค์ที่ ๑ และ ๒ จากนั้นเมื่อกายวาจาสงบก็ไปจัดการเปลี่ยนนามธรรมคือจิต วิญญาณให้ไปอยู่ทางกุศล ละอกุศลเพื่อย้ายนิสัยที่ฝังรากลึกให้ย้ายจากฝั่งอกุศลไปอยู่ทางกุศลแทน นี้จึงใช้เครื่องมือตัวแรกคือมรรคองค์ที่๖ ให้สัตว์ละอกุศลแล้วเปลี่ยนมาเจริญกุศลแทน อยู่กับกุศลให้มากให้บ่อยจนชินกับกุศล ธรรมชาติของรูปนามอย่างที่อธิบายไปแล้วจะปรับตัวสู่สภาพใหม่จากนั้นรูปนาม กายใจหรือขันธ์๕ นี้จะเริ่มเข้าไปติดกุศล จึงมีคำต่อมาที่พระองค์ตรัสคือ คนดีทำดีง่ายทำชั่วยาก คนชั่วทำชั่วง่ายทำดียาก จากนั้นผู้นั้นจะทำกุศลไปเรื่อยแต่กุศลเช่นเมตตา กรุณาก็ดีในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมแต่กุศลที่พระองค์ต้องการเชื่อมต่อไปและจะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายสูงสุดกลับเป็นอานาปานสติ เพราะอะไร? แต่เมื่ออยู่กุศลทำกุศลจนเคยคุ้นเคยชิน ก็จะเกิดความเคยชินในการทำกุศล จากนั้นจึงต้องใช้มรรคองค์ที่๗ สัมมาสติ ไปวางความยึดถือกุศล แต่จะไม่เลิกการทำกุศล จากนั้นจะไม่ทำกุศลด้วยไปดำริตริตรึกกุศลให้มาเป็นของเราอีก จะเริ่มทำกุศลด้วยใจเป็นอิสระ จะพบความจริงขึ้นโดยลำดับ   เมื่อผู้เดินทางมาจนกุศลเกิดขึ้นมากจากการละอกุศลแล้ว จิตมาซบกับกุศลก็จะสร้างตัวตนต่อการยึดถือกุศลเป็นธรรมชาติของจิตที่มีอวิชชาอยู่ ดังนั้นเพื่อให้เห็นความจริงจึงต้องให้จิตได้เห็นว่า ฐานต่างๆที่จิตเข้าไปเวียนวนผ่านนั้นอันมี กาย เวทนา จิตและธรรมารมณ์ ทำอกุศลส่งผลเป็นอกุศล ทำกุศลส่งผลให้ใจเป็นกุศล (หลายคนตรงนี้ไปหลงว่า ไม่ว่ากุศลหรืออกุศลก็ล้วนเกิดดับ ตรงนี้ใช่นะ แต่ถ้าโมหะเข้าครอบจะบอกต่อว่า ทำอกุศลหรือกุศลก็เหมือนกัน นี่หลงทางแล้ว) เมื่อเห็นความจริงว่าทุกสิ่งล้วนเป็นของเกิดขึ้นดับไป นั่นจะนำพาไปสู่ความเห็นที่ถูกต้องคือความไม่มีตัวตนนั่นเอง ในขณะที่เดินทางผ่านฐานทั้ง๔นั้น ด้วยความซ้ำจะเริ่มเห็นความจริงที่จะเป็นปัญญารู้อริยสัจคือ ตัวฐานทั้ง๔เป็นเครื่องมือให้ไปรู้ความจริงว่า ขันธ์๕คืออะไร เพราะความซ้ำในการเห็นฐานทั้ง๔ จึงเกิดความรู้ว่าขันธ์๕ คือองค์ประกอบที่เข้ามาประกอบกัน ซ่อนๆซ้อนๆกันด้วยการเดินทางผ่านฐานทั้ง๔ ดังนั้นตัวสติปัฏฐาน๔นั้นไม่ใช่ตัวปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มรรคข้อนี้จึงยังถูกจัดอยู่ในส่วนสมาธิ ไม่ใช่ปัญญา วันนี้หลายคนหลงว่าสติปัฏฐาน๔ เป็นวิปัสสนา ตัววิปัสสนาจริงๆนั้นอยู่ที่มรรคองค์ที่๑ คือเมื่อเจริญสติแล้วไปเกิดปัญญาเข้าใจว่า ขันธ์๕ ไม่ใช่ตัวตน นั่นล่ะเป็นวิปัสสนา   เมื่อเข้าใจในสติปัฏฐาน๔ ก็จะรู้ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่มีตัวตน นั่นเป็นความเดียวกันเชิงซ้อนที่จะเป็นความเข้าสืบเนื่องว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ไม่มีตัวตนเป็นอนัตตา ความเข้าใจดังนี้มาจากจิตใจที่ตั้งมั่นในสัมมาสมาธิ ปัจจัยให้สัมมาสมาธิเกิดมีมาตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ เรื่อยมา จนเนกขัมมะ จนมีศีลจิตก็ตั้งมั่นขึ้น จนละอกุศล จิตก็ตั้งมั่นขึ้น จนมาเจริญกุศล รู้ลม อานาปานสติ จิตก็ตั้งมั่นขึ้น นำมาเจริญสติปัฏฐานได้ดี เข้าใจความจริงวางความเห็นผิดจิตก็ตั่งมั่นขึ้นอีก จนตั้งมั่นถึงที่สุด เห็นความจริงทั้ง รู้แจ้งอริยสัจอย่างแจ่มแจ้งว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับสนิทแห่งทุกข์ นี้คือหนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ นี้เป็น สัมมาทิฏฐิ ขั้นสูงสุด ทำลายผู้ยึดถือขันธ์เพราะเหตุจากจิตเองยึดถือตัวเอง เป็นจุดกำเนิดของเรื่องทั้งหมด จึงเกิดจักขุง อุทปาธิ(จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) ญานังอุทปาธิ(ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) ปัญญาอุทปาธิ (ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) วิชชาอุทปาธิ (วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) อาโลโกอุทปาธิ (แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา) เพราะจิตสลัดความเห็นผิดทั้งหมดที่ครอบงำมาตลอดการเดินทางในสังสารวัฏอย่างยาวนานลงได้ จึงเกิดผลคือ สัมมาญาณ ความรู้อันเป็นสัมมาแท้ๆและสัมมาวิมุตติ คือความหลุดพ้นที่แท้จริง ไม่มีผู้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ สิ่งทั้งปวงอีกต่อไป จิตกลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมแท้   หากเข้าใจมรรคที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ มีหรือที่สาวกจะปรามาสคำของท่าน มีหรือที่จะมานั่งเถียงกันว่าของใครถูก อย่าให้โง่ต้องซ้อนโง่ต้องซ้อนโง่ให้หลายชั้นเลย กลับมาศึกษามรรค ปฏิบัติตามมรรค จะพบกับความสงบเย็นที่แท้จริง เวลาเหลือกันคนละนิดเดียว อย่าเหมือนไก่ในสุ่มที่เขากำลังลำเลียงไปโรงเชือด แต่เหล่าไก่ทั้งหลายที่โง่เขลาก็ยังเถียงว่าสุ่มกูดีกว่า พวกกูเก่งกว่า สุ่มนั้นไม่ได้เรื่อง เดี๋ยวถึงแล้วกูต้องเดินนำหน้าเพราะรู้จริง ไก่ทั้งหมดไม่ว่าไก่ลูกน้องหรือไก่ลูกพี่ที่พูดกันเรื่องเดียวกัน เกิดทิฏฐุปาทานในเรื่องเดียวกันจนเป็นอุปาทานหมู่ ก็จะเห็นกลุ่มก้อนพวกกูถูกโดยไม่เห็นความจริงใดๆ แต่ที่ไหนได้ ทันทีที่รถจอด กระบะท้ายรถถูกเอาลง สุ่มถูกยกลง ไก่ไม่ว่าหัวหน้าลูกน้องถูกโยนเข้าไปห้องประหารอย่างไม่มีใครแยแส เขาก็ปาดคอลงต้มในหม้อ ตายเท่ากันทุกตัว ไม่แน่ว่าบางตัวต่อไปจนหลงถึงตายถึงความเก่งของกู ที่จะอยู่ติดต่อไปด้วยจนตาเปิ่งโพลงครั้งสุดท้าย แล้วก็ไปสร้างเหตุเกิดใหม่ต่อไปเพราะ”กู”เก่งนี่เอง   สุดท้ายมีใครบรรลุธรรมที่ไหนกัน…พระอรหันต์ถ้าจะแปลกันจริงๆก็คือ ไม่มีใครเป็นพระอรหันต์ เปลือกที่ยืนอยู่นั่นขันธ์๕ ไม่มีใครเอามันแล้วของทุกข์รอมันพังตอนหมดเหตุ จิตก็ไม่มีเจ้าของเพราะรู้แจ้งไปแล้ว จิตตอนโง่กับตอนหายโง่จึงเรียกชื่อยากเลยไม่รู้ตอนไหนจะให้ชื่ออะไร เลยเติมให้มันต่อไปอีกหน่อยว่า จิตเดิมแท้(แต่ไม่กลับมาโง่อีก) ไปเป็นจิตใหญ่ ไม่กระจอกงอกง่อยไล่งับวิญญาณอีก   จะหาพระอรหันต์ที่ไหนกัน ถ้าจะหาก็หาที่ตัวเองนั่นล่ะ ท่านถูกบังอยู่ เอาสิ่งบังออกซิแล้วจะพบพระอรหันต์ที่ความไม่มีอะไร ตั้งชื่อให้สภาพนั้นว่า สุญญตา 2013-06-21

ไม้ตีระนาดกับลูกระนาด

นักปฏิบัติจะได้ยินคำว่า ผู้รู้ กับ ผู้ถูกรู้ มาเสมอ ตอนยังไม่เข้าสู่การปฏิบัติ คนทั้งหลายจะไม่มีผู้รู้กับผู้ถูกรู้กันหรอก เพราะในการใช้ชีวิตนั้นมันมีแต่ความรู้สึกเป็น ของกู เป็นกู ตลอดเวลา เช่นใครทำเสียงดัง เราก็โกรธ ไม่ชอบใจ อย่างนี้เป็น “เราโกรธ เพราะมีคนอื่นกระทำ” ขึ้นมา ไม่มี “ผู้รู้ ผู้ถูกรู้” ใดๆ   จากนั้นเริ่มมาปฏิบัติ มีสติ สัมปชัญญะ รู้จักนั่งสมาธิ เริ่มมี “ผู้รู้” ไปสังเกต “ลมหายใจ” ลมหายใจเลยกลายเป็น “ผู้ถูกรู้” เมื่อทำจนบ่อย จนชำนาญ จากนั้นก็เริ่มพัฒนาขึ้นสู่การใช้ชีวิตประจำวัน   พอมีใครทำเสียงดัง เกิดความไม่พอใจ ตอนนั้นสติระลึกขึ้นมา จึงเกิด “ผู้รู้” ไปสังเกตเห็น “อารมณ์โกรธ ” อารมณ์โกรธ กลายเป็นผู้ถูกรู้ เมื่อเป็นอย่างนี้บ่อยๆ เริ่มเกิดเห็นลักษณะรายละเอียดของ “ผู้ถูกรู้” มากขึ้น เช่น “ผู้ถูกรู้” นี่เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวก็ดับไป บางทีก็ไปเห็นว่า เมื่อมีสิ่งมากระทบ ผู้ถูกรู้นี้ก็เกิดขึ้นตาม หรือ บางทีสิ่งกระทบเดียวกัน แต่ทำไม “ผู้ถูกรู้” ครั้งนี้มันไม่เหมือนครั้งก่อน ฯลฯ อย่างนี้ “ผู้รู้” เริ่มเรียนรู้ “ผู้ถูกรู้”   จนวันหนึ่งเข้าใจได้ ฟันธง จากการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง (ตอนนี้ศีลต้องบริบูรณ์นะ ไม่งั้นจะเห็นด้วยปัญญาเองว่า หากยังทำผิดศีล ความทุกข์ใจจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ยากมากที่จะนำไปสู่ความสงบตั้งมั่น) “ผู้ถูกรู้” นั้น ไม่มีตัวตน เพียงแค่ของเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ดับไปเมื่อหมดเหตุปัจจัย ใครเห็นแจ่มแจ้งตลอดเวลาอย่างนี้ ผู้นั่นจะละความเห็นผิดในความเป็นตัวตนลงในที่สุด ถึงแม้ในช่วงระหว่างการปฏิบัติ การเห็นอย่างนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกันแม้จะยังไม่ถึงธรรมจนละความเห็นผิด ถึงแม้บางขณะจะกลับไปมีตัวตนบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะจิตยังไม่เห็นจนขาวรอบ ดังนั้นอย่าห่วง จากการปฏิบัติภาวนาไม่หยุดหย่อนมันจะต้องเห็นความจริงมากขึ้น มากขึ้น จนเบียดความเห็นผิดในความเป็นตัวตนหมด (สักกายทิฏฐิ) ไปในที่สุด นั่นจึงไม่มีมิจฉาทิฏฐิอีก ซึ่งก็แปลว่าเกิด สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง   ทีนี้ เมื่อ “ผู้รู้” เฝ้าดู “ผู้ถูกรู้” ต่อไป ความตั่งมั่นใน สัมมาสมาธิ ก็จะสูงขึ้น ทำให้เริ่มไปสังเกตเห็นว่า “ผู้รู้” เองก็เกิดดับนี่ ในช่วงที่ผ่านมา ความที่มัวแต่สังเกต พุ่งไปที่ “ผู้ถูกรู้” จึงทำให้ “ผู้รู้” เองเกิดเป็นตัวตนขึ้นโดยลำดับ เริ่มรู้สึกขึ้นเรื่อยๆว่า “กู” เข้าใจ เกิด “ปัญญา” แล้วสิ่งที่จะตามมาเป็นอัตโนมัติโดยผู้นั้นอาจจะไม่รู้เลยคือ การยึดถือ “ปัญญา” นั่น เป็น “ของกู” ขึ้นทันทีและเหนียวแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในชั้นที่ละเอียดมากขึ้นแม้ละความเห็นผิดในความเป็นตัวตนแล้วก็ตาม แต่อุปาทานในขันธ์ยังมีอยู่   ตราบใดที่จิตยังคงมีอวิชชา จิตโง่จะยึดทุกอย่างนั่นล่ะ เพราะต้นเหตุของทุกอย่างก็เพราะจิตมันยึดถือตัวมันเอง การเจริญมรรค จะเกิดรู้แจ้งอริยสัจ๔ ขึ้นมา เมื่อเกิดรู้แจ้งอริยสัจก็จะนำไปสู่การเห็นและรู้แจ้งปฏิจจสมุปบาทขึ้นตามมา เนื่องด้วยเป็นสิ่งเดียวกัน จึงนำไปสู่ความเห็นถูกในระดับที่ลึกขึ้น จนเห็นว่า วิญญาณเองก็เกิดดับ ตอนนี้จิตจะเริ่มเห็นความจริงมากขึ้น จึงเป็นที่มาสู่ความเห็นถูกมาขึ้นว่า แม้ ผู้รู้” ก็เกิดดับ   หากอุปมา “ผู้รู้” กับ “ผู้ถูกรู้” เหมือนระนาดกับไม้ตีระนาด ระนาดกับไม้ตีก็อยู่กันเป็นเซ็ท แต่ไม่เหมือนกัน ทำหน้าที่ต่างกัน แต่งานนี้ไม้ตีระนาดเกิดไปเข้าใจผิดยึดว่าระนาดเป็นของมัน เสียงที่เกิดขึ้นมาจากมันเป็นคนทำ แต่เมื่อสังเกตด้วยความตั่งมั่นและเป็นกลาง ไม้ตีระนาดจึงเริ่มพบความจริงว่า เสียงระนาดที่ดังขึ้นมานั้นมาจากมีการกระทบกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นของไม้ตีระนาด มันเป็นเพียงการกระทบกันเพราะยังมีเหตุ   เพราะความที่ไม้ตีระนาดเข้าใจผิดไปเองว่าทั้งระนาด ทั้งเสียงระนาดเป็นของมัน นี่จึงนำมาซึ่งความทุกข์มาตลอด สุดท้ายความเข้าใจผิดทั้งหมดในชั้นลึกที่สุด เกิดมีขึ้นมาได้ ก็จากความเป็นตัวตนของไม้ตีระนาดเอง ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนอยู่แล้ว เพราะความเข้าใจผิดที่ยึดว่าสติก็ของเรา ปัญญาก็ของเรา เรารู้แจ้งแล้ว แม้นสัมมาทิฏฐิมีอยู่ แต่มันยังไม่สามารถวางสัมมาทิฏฐิได้ จนในที่สุดจากการรู้แจ้งอริยสัจจนถึงที่สุด สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นเหตุเกิดผลเป็น สัมมาญาณและสัมมาวิมุตติ ที่นี้จึงเป็นญาณ (ความรู้ ปัญญา) แท้จริงที่ปราศจากผู้ยึดถือ นี้จึงเป็นวิมุตติแท้ ว่างจากผู้วิมุตติ (หลุดพ้น) เป็นการคืนสู่ธรรมชาติโดยปราศจากตัวตนใดๆอันก่อนให้เกิดความยึดถือใดๆทั้งสิ้น   เมื่อเกิดความเห็นถูก ไม้ตีระนาด ระนาด เสียงระนาด ล้วนเป็นอิสระว่างจากตัวตนกันหมด โดยความจริงก็ว่างกันอยู่แล้ว มันเพียงมีความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นมาเองด้วยความไม่รู้ นี่จึงไปสร้างเหตุเกิดของขันธ์อันสืบเนื่อง ภพ ชาติอันสืบเนื่อง ไม่หยุดหย่อน   วันนั้น ทั้ง ผู้รู้” “ผู้ถูกรู้” ที่แท้ก็เป็นสิ่งเดียว ล้วนเป็นธรรมชาติที่ว่างจากตัวตนทั้งสิ้น เมื่อนั้นจะหมดเหตุปัจจัยใดๆในการก่อทุกข์ เพราะหมดเหตุแล้ว หยุดการก่อร่างสร้างการเกิดใดๆ นี้คือที่สุดแห่งทุกข์ คือ พระนิพพาน   2013-09-04

นิทานไม่เซน

สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง มีนักปฏิบัติทั้งชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่คราคร่ำกันอยู่ในสำนัก วันนั้นขณะที่อาจารย์เดินดูความเรียบร้อยของศิษย์ในสำนัก ได้เดินไปพบสาวน้อยน่ารักที่กำลังขมักเขม้นกับกวาดใบไม้   อาจารย์จึงเดินเข้าไปหาด้วยความชื่นชมในความขยันของศิษย์และพูดขึ้นว่า   “ขยันดีจริงนะ”   “ก็ไม่ได้ขยันนี่ค่ะ เพียงแค่กวาดเท่านั้นเอง” ศิษย์ตอบ   “กวาดอย่างนี้ได้บุญซินะ” อาจารย์พูดต่อ   “กวาดพื้น กวาดใจค่ะ” ศิษย์ยังคงกวาดต่อไป ศิษย์หยุดกวาดแล้วหันมาตอบอาจารย์   “ใจสะอาด นั่นเป็นบุญ หากเพิ่มตัวบุญเข้าไป ใจหนัก สกปรกเพิ่ม ต้องมากวาดเพิ่มอีก”   อาจารย์ยืนยิ้มอย่างชื่นชมในคำตอบของศิษย์ตัวน้อย   “ดีมาก ถ้าอย่างนั่นอาจารย์จะให้รางวัลในความดี เอ้าให้ขออะไรก็ได้หนึ่งอย่าง” อาจารย์ยิ้มแล้วเสนอให้   ศิษย์มองหน้าอาจารย์แล้วย้อนถามว่า “อะไรก็ได้หรือค่ะ”   “ใช่ อะไรก็ได้” อาจารย์ยืนยัน   ศิษย์ตัวน้อยยืนคิดพักหนึ่งแล้วบอกอาจารย์ว่า “งั้นหนูขอกอดอาจารย์ค่ะ”   อาจารย์อึ้งไปนิดหน่อยเพราะนึกไม่ถึงว่าศิษย์ผู้เฉลียวฉลาดจะขออะไรแบบนี้ แต่ยินยอมให้ศิษย์ได้ทำตามที่ขอ จึงอ้าแขนออก เด็กน้อยจึงเข้ามากอดซุกหน้าอย่างมีความสุข” เมื่อเสร็จแล้ว ด้วยความสงสัยอาจารย์จึงย้อนถามศิษย์ผู้มีปัญญาว่า “ทำไมจึงขอสิ่งที่ไม่มีสาระเลยล่ะ”   ศิษย์ย้อนถามอาจารย์ว่า “เช่นอะไรค่ะ สาระ”   “เช่น คำสอนขั้นสุดยอด หรือ ทำอย่างไรหนูจึงจะบรรลุธรรม”   “อ๋อ” ศิษย์ยิ้มๆแล้วตอบอาจารย์ว่า   “คำสอนขั้นสุดยอด อาจารย์พูดอยู่ทุกวัน ส่วนเรื่องการบรรลุธรรม หนูต้องทำเอง ไม่สามารถขอจากอาจารย์ได้ค่ะ แต่กอดนี่ทั้งสำนักไม่เคยมีใครได้เลย หนูว่านี่ล่ะสุดยอด”   2013-08-17

ประตูใหญ่บางขวาง(ยัง)เปิดอยู่

ในสมัยพุทธกาลมีผู้คนมากมายพยายามแสวงหาหนทางสู่พระนิพพาน การพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นที่ปรารถนาของผู้คนในยุคนั้น นั่นจึงเป็นที่มาที่เราจึงได้เห็นฤาษี ชี ไพร ปริพาชก พยายามประพฤติปฏิบัติกัน ทำกันทุกอย่างไม่ว่าจะทุกรกิริยาซึ่งแสนจะยากลำบาก แต่ก็อดทนทำกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นปรารถนาจะพ้นทุกข์จริงๆ พูดไปแล้ว สาวกวันนั้นอาจจะง่ายกว่าวันนี้ก็ตรงมีคนแสวงหาทางออกกันอยู่แล้ว   วันนี้สถานการณ์ต่างออกไป ผู้คนหลงไหลไปกับกามสุข ความหรูหรา สะดวกสบาย เรื่องจะให้มานั่งลำบากนะหรือ? ลืมไปได้เลย   ใน ธัมมจักรกัปวัตตนสูตร พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสุดโต่ง ๒ สาย ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยโค การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยกาม เป็นของชาวบ้าน เป็นของชนชั้นปุถุชน และ อัตตกิลมถานุโยโค การทรมานตนให้ลำบาก เป็นสิ่งนำมาซึ่งทุกข์ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า   พระองค์พูดกันเอาไว้หมดแล้วทั้งหลงใหลในกามและทรมานตนให้ลำบาก จากนั้นท่านได้ชี้บอกว่าทางสายกลางมีอยู่นั่นเป็นทางสู่พระนิพพาน สู่ความสงบเย็น แล้วก็ประกาศเลยว่าทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ ประกอบด้วยองค์ ๘ประการ คือ อริยมรรคมีองค์๘   ทางออกจากทุกข์ท่านได้แสดงไว้แล้ว ได้เดินนำไปก่อนแล้ว สังสารวัฏนี้คือคุกขังสัตว์ที่แข็งแรง ไม่มีทางที่สัตว์โลกจะออกได้ด้วยปัญญาปุถุชนอันทุพลภาพ มีแต่ความหลงใหลในสิ่งลวงใจ แต่บัดนี้ประตูคุกถูกเปิดแล้วด้วยปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์   ในขณะเดียวกันประตูห้องขังของนักโทษแต่ละห้อง แต่ละห้องนั้น ดูเหมือนจะถูกปิดไว้แต่ในความเป็นจริง ประตูแต่ละห้องนั้นกลับไม่ได้ใส่กุญแจ เมื่อสาวกได้ฟังคำพระศาสดา และประพฤติปฏิบัติตาม จึงได้พบความอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ ได้เห็นความจริงว่าประตูใหญ่ของสังสารวัฏได้ถูกเปิดออกแล้วจริงๆ สาวกทุกคนจึงรีบวิ่งกันเข้าไปประกาศให้คนในคุกทั้งหลายรีบตื่นขึ้นแล้วก็กระชากประตูลูกกรงแต่ละห้องอย่างสุดแรงและได้ประหลาดใจพร้อมได้ดีใจเป็นครั้งที่สองคือ ประตูห้องขังแต่ละห้องไม่ได้ล็อค จึงรีบบอกถึงสิ่งอัศจรรย์ที่ได้พบจากปัญญาการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเสียงสั่นระรัว แต่ความสุขความดีใจค่อยสลายๆไปเพราะ..แทบจะไม่มีนีกโทษคนไหนสนใจจะเดินตามออกมาเลย พวกเขาพลีกายเทใจให้กับห้องขังที่พัศดีประดับประดาเอาไว้ให้หลงใหล นี่จึงกลายเป็นคุกที่แยบยล แนบเนียนยิ่งกว่าสมัยใดใด จนพัศดีไม่ต้องใช้ผู้คุม ไม่ต้องล็อคกุญแจห้องขัง แถมนั่งยิ้มอยู่บริเวณประตูใหญ่ และปล่อยให้สาวกเดินไปชักชวนได้ถึงในห้องขังอย่างยิ้มเยาะ หัวเราะด้วยความสมเพศและสะใจ ทั้งต่อสาวกที่ต้องเหนื่อยเปล่าและนักโทษผู้โง่เขลา หลงใหลแค่ของลวงๆ ของชั่วคราว เป็นจริงเป็นจังกับสิ่งไร้สาระ   พัศดีเคยทูลขอพระพุทธเจ้าให้ละขันธ์ ปรินิพพานไปแล้วครั้งหนึ่ง ความจริงประตูคุกควรจะถูกปิดไปแล้วตั้งแต่วันนั้น แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความทุ่มเทของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศปาฏิโมกข์ไว้และตั้งธรรมวินัยให้ภิกษุต้องสวดและฟังในทุกกึ่งเดือน จึงทำให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่มาถึงวันนี้ ประตูคุกที่เปิดอ้าส้า 180 องศามาเป็นเวลานานถึง 2,600 ปี หลังการตรัสรู้ แต่คนคุกกลับไม่รู้เลยว่าประตูใหญ่ของคุกนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำได้เดินไปดึงประตูเพื่อปิดกลับไปเหมือนเดิม ประตูใหญ่ของคุกนี้กำลังปิดลงอย่างช้าๆ คนคุกหาได้รู้เรื่องไม่ เพราะคาราโอเกะที่กำลังตะโกนแหกปากร้องกันอยู่นั้น มันกลบเสียงทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่รอบๆโดยหมดสิ้น   เพราะมัวแต่หลงใหลสิ่งที่พัศดีสร้างไว้ล่อในห้องขัง คนคุกกลับไม่เห็นความจริงว่า ที่กำลังหัวเราะมีความสุขอยู่กับทีวีจอแบน ipad, iphone, Hi-speed internet กระเป๋า เสื้อผ้า สิ่งยวนใจนั้น ทั้งๆที่เพื่อนร่วมคุก ห้องขังข้างๆถูกลากออกไปประหารทุกวัน สาวกพยายามบอกว่า “เธอก็โดนพิพากษาประหารด้วยเช่นกัน ทำไมไม่หาทางหนีออกไปในขณะที่เวลายังคงเหลือ ซึ่งไม่รู้ด้วยว่าเหลืออยู่เท่าไหร่ ก่อนที่เขาจะมาลากออกไปประหาร”   คำตอบที่ได้กลับทำให้สาวกที่ยืนรอที่จะช่วยชี้บอกทางนั้น ต้องก้มหน้าถอนหายใจอย่างเหนื่อยอ่อน ทั้งๆที่ยืนรออยู่ด้วยใจระทึก ทั้งๆที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรด้วยเลยเพราะความจริงก็คือ “กูไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย แต่ผู้คนกลับมาพูดกันเองว่า นั่นมันหน้าที่ของมึงที่ต้องมาบอกกู ส่วนกูจะทำหรือไม่ทำตามนั่นมันสิทธิของกู”   สาวกเองก็ยืนลุ้นมองดูนาฬิกาสลับกับหันกลับไปมองประตูใหญ่ กลัวมันจะปิดเสียก่อน กลัวเจ้าหน้าที่คุกจะเดินมาลาก คนๆนั้นไปประหารเสียก่อน   แต่คำตอบที่ได้กลับกลายเป็น “เดี๋ยวนะ ขอดูละครให้จบก่อน ตอนนี้เป็นตอนจบซะด้วย ไปบอกห้องอื่นก่อนก็ได้ ”   มาจนถึงวันนี้ สาวกทั้งหลายได้พบความจริงจากบทเรียนที่ได้พบเจอมา จึงไม่ทุกข์กับใครๆอีกต่อไป ทำได้แค่ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถในชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เพราะยอมรับความจริงแท้แน่นอนแล้วว่า..สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม   2013-09-01

ฉันมีสิทธิ เขาทำครอบครัวฉัน

ถ้าท่านเป็นพ่อ แม่ พี่หรือน้องของใคร ซึ่งมีคนมาสู่ขอลูกสาวหรือคนในครอบครัวไปเพื่อแต่งงานด้วย จากนั้นเขาไปบวช ปล่อยให้ลูกสาวหรือคนในครอบครัวของท่านที่เขามาสู่ขอไปแต่งงานด้วย ต้องอยู่คนเดียว ว้าเหว่ เศร้าโศกอย่างพระนางพิมพา ท่านจะโกรธไหม? ท่านคงจะไปต่อว่าเขาด้วยถูกไหม? ท่านอาจจะผูกใจเจ็บ อาฆาตไม่เผาผีเลยก็ได้ หรือหากเจอหน้าคราครั้งใดคงต้องเข้าไปต่อว่าหรือหาทางกลั่นแกล้งเพื่อให้มันสาแก่ใจที่ทำกับคนรักของฉัน ท่านรู้สึกว่าท่านมีความชอบธรรมที่จะทำอย่างนั้นได้ เพราะคนๆ นั้นทำกับ “ครอบครัวของกู”   เรามาดูความจริงที่เราคิดเอาเองว่าเรารู้กันหน่อย แน่ใจหรือว่า เรา มีสิทธิ   ในสมัยพุทธกาล สุปปะพุทธะ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเทวทัตและพระนางยโสธราพิมพา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง เมื่อรู้ว่าพระเทวทัตถูกธรณีสูบเพราะจองล้างจองผลาญพระพุทธองค์ แทนที่สุปปะพุทธะจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ กลับมีจิตโกรธแค้นอาฆาต ทั้งยังโกรธแค้นเจ้าชายสิทธัตถะที่ทอดทิ้งธิดาของตนออกผนวช จึงนำอำมาตย์ข้าราชบริพารไปนั่งดื่มสุรา ขวางทางที่พระพุทธองค์จะออกโปรดเวไนยสัตว์ ทำให้พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไม่ได้เพราะมีทางออกอยู่ทางเดียว ถึงกับต้องอดพระกระยาหารไป 1 วัน   เมื่อพระอานนท์ทูลถามถึงความผิดของสุปปะพุทธะที่กระทำเช่นนั้น พระพุทธองค์ซึ่งทราบด้วยญาณ จึงตรัสว่า   “ดูก่อนอานนท์ หลังจากนี้ไปได้เจ็ดวัน สุปปะพุทธะจะลงอเวจีตามเทวทัตไป”   เมื่อสุปปะพุทธะทราบถึงพุทธดำรัส จึงขึ้นไปประทับบนชั้น 7 ของปราสาท ทั้งยังให้นายทวารคอยขัดขวางไว้ไม่ให้พระองค์ออกจากปราสาทใน 7 วัน   สุปปะพุทธะประทับอยู่ในปราสาทชั้น 7 จนถึงวันที่ 7 ก็ได้ยินเสียงม้าแก้ว ซึ่งเป็นม้าที่ทรงโปรดร้องก้อง ด้วยความเป็นห่วงม้า สุปปะพุทธะจึงวิ่งลงมา เหล่านายทวารก็คิดว่าครบ 7 วันตามกำหนดแล้ว จึงไม่มีผู้ใดขัดขวางไว้   พอสุปปะพุทธะก้าวพ้นปราสาท เหยียบพระบาทลงบนพื้น ธรณีก็เปิดออก สูบสุปปะพุทธะลงสู่ขุมนรกอเวจีตามพุทธดำรัส…   ถ้า สุปปพุทธะ คิดถูกอย่างที่ผู้คนทั่วไปเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ชอบธรรม เช่นฉันทำกับเขาได้เพราะเขาทำคนในครอบครัวของฉัน และเราเองก็ยังคงสงสัยไม่เข้าใจว่าสุปปพุทธะผิดยังไง เพราะเขาทำเพื่อครอบครัวของเขา นั่นแสดงว่าเราเองไม่เข้าใจ กุศล อกุศล สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา   หรือเรามัวแต่คิดว่าเพราะสุปปพุทธะทำกับพระพุทธเจ้านั่นจึงผิด เพราะพระองค์เป็นผู้มีบุญญาธิการ การขวางพระองค์ซึ่งกำลังจะไปโปรดสัตว์เป็นกรรมหนัก ใช่..ความคิดอย่างนั้นไม่ผิดแน่นอน แต่ก็จะเข้าไปไม่ถึงต้นตอของการกระทำอยู่ดี   แต่จุดเริ่มต้นที่สุปปพุทธะทำสิ่งนี้ลงไป มันเริ่มจากความรู้สึกที่เขียนเอาไว้ที่ตอนแรกใช่ไหม ถึงได้ลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ลงไป เราเองหากอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน เราก็อาจคิดหรือกระทำไม่ต่างออกไปเท่าไหร่ เพราะเราเองก็อยู่ในความคิดปรุงแต่ง เพียงแต่คนที่เรากระทำนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า นั่นไม่ได้แปลว่าไม่ส่งผล เพียงแต่ผลจะรุนแรงน้อยกว่า จากจิตอาฆาตอกุศลของเราเอง   แปลว่าเราจะจัดการทำอะไรให้กับครอบครัวเราไม่ได้เลยหรือ? ได้แน่นอนเพราะวิบากกรรมทั้งหมดมันมาจากความอาฆาต อกุศลของเราเองต่างหาก และการกระทำที่เป็นอกุศลนั้นยิ่งส่งผลรุนแรงเพราะไปกระทำต่อบุคคลที่เป็นเนื้อนาบุญของโลกด้วย นั่นจึงส่งผลเป็นกรรมหนัก แต่อย่าลืมว่าที่เราคิดเอาเองว่าพระนางไม่สมควรต้องถูกทอดทิ้งอย่างนี้ ในที่สุดพระนางพิมพาบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นะจากการที่เสด็จออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะนะ   ด้วยความไม่เข้าใจ ผู้คนทั้งหลายจึงสร้างกรรมไม่เคยหยุดหย่อน และหากเป็นสิ่งที่เรากระทำลงไปด้วยความรู้สึกแบบเดียวกับสุปปพุทธะ เชื่อเถอะว่าจะมีเสียงภายในมาคอยหาเหตุผลปกป้องตัวเองเสมอ ในสิ่งที่จะกระทำหรือได้กระทำลงไปแล้ว นั่นอาจทำให้เรารู้สึกว่าเราทำถูก แต่ความจริงไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความรู้สึกของใครทั้งสิ้น   ดังนั้นสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นถูกจะเกิดได้อย่าง ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงได้   ปฏิบัติธรรม..ฟังธรรม กันเถอะ อย่ามัวแต่คิดอยู่เลย   2013-08-30

ทุกคนที่ทำผิด จะคิดว่าตัวเองทำถูก

ในคอร์สปฏิบัติธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หลังนักศึกษาได้ปฏิบัติและฟังธรรมไปจนจบหลักสูตรแล้ว ในวันสุดท้ายได้มีการออกมาแสดงความคิดเห็น มีนักศึกษาชายคนหนึ่งออกมาเล่าเรื่องของเขาอย่างน่าสนใจ   “เมื่อตอนที่ผมอายุ 17 ปี เย็นวันหนึ่งขณะที่ผมอยู่บ้าน น้องชายของผมกลับจากโรงเรียนด้วยการวิ่งเข้าบ้านอย่างกระหืดกระหอบแล้วเขาก็บอกผมว่า พี่ ผมโดนจิ๊กโก๋ไล่ตีมา ตอนนี้มันดักรออยู่หน้าบ้าน ทันใดนั้น ผมรู้สึกโกรธมากจึงวิ่งไปหยิบปืนแล้วออกไปหน้าบ้านวิ่งไล่ยิงพวกนั้นอย่างเดือดดาล จากเหตุการณ์วันนั้น ผมถูกตำรวจจับ แต่ด้วยความที่อายุไม่ถึง 18 ปี จึงไม่ติดคุก”   แต่ที่ผมมีความรู้สึกตอนนี้หลังจากที่ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมกับอาจารย์คือผมรู้สึกว่า วันนั้นผมทำผิด แต่ที่ผมเอะใจขึ้นมาในขณะนี้ก็คือ ทำไมตอนนั้นผมจึงรู้สึกว่าผมทำถูก ผมปกป้องน้องชายของผม ผมเลยมีความรู้สึกว่า ทุกคนที่ทำผิด ในขณะที่เขาทำ เขาจะรู้สึกว่าเขาทำถูก   อาจารย์ครับ แล้วใครจะเป็นคนบอกในขณะที่ทุกคนทำผิดอยู่ แต่ก็จะมีความรู้สึกหนึ่งข้างในบอกเราว่าเราทำถูก   นักศึกษาคนนี้มีปัญญามาก เขาเห็นความจริงเกินไปกว่าที่คนธรรมดาควรจะเห็น คนทั่วไปจะเห็นแต่ตัวเอง แต่นี่เห็นออกไปถึงทุกคน นี่คืออาการของคนที่สลายสักกายทิฏฐิได้ชั่วคราว   คำตอบนี้น่าสนใจ ผมเชื่อว่าคนส่วนมากถ้าจะตอบคำถามนี้จะตอบว่า “สติ” แต่สำหรับผมคำตอบคือ ” สัมมาทิฏฐิ  ทุกวันนี้ที่สติมาเตือนกันทำไมยังทำอยู่ล่ะ โกรธ-รู้หมด อดไม่ได้ โลภ-อยากได้ สติเตือนแล้วสุดท้ายก็ซื้อ หลง-ก็ยอมหลงเพราะมันเพลิน มันสนุกดี ตัณหาเกิดขึ้น ยอมทำผิดเพียงเพราะทนไม่ไหว ขอหน่อยเถอะ พวกนี้สติมาเตือนแล้วทั้งนั้น   เมื่อเกิด สัมมาทิฏฐิ นั่นคือ เกิดปัญญา ที่จะรู้ผิดชอบชั่วดีจริงๆ เข้าถึงหัวจิตหัวใจของแต่ละคน ซึ่งนั่นจะไม่มีทางที่จะมุ่งร้าย เบียดเบียนใครอีกเลย   2013-06-28